อุปกรณ์ป้องกันตัว ที่ผู้หญิงพกพาได้แบบ “ไม่ผิดกฎหมาย”

อุปกรณ์ป้องกันตัว ที่ผู้หญิงสามารถพกพาไปในที่สาธารณะได้แบบ “ไม่ผิดกฎหมาย”

ปัจจุบัน ผู้หญิงตกเป็นเหยื่อการถูกทำร้ายร่างกายและการก่ออาชญากรรมในรูปแบบต่างๆ นอกจากการฝึกศิลปะการป้องกันตัวแล้ว อีกวิธีก็คือการพกอุปกรณ์ป้องกันตัว อย่างไรก็ตาม อุปกรณ์ป้องกันตัวแบบพกพา บางอย่างนั้นก็สามารถพกพาได้ แต่บางอย่างก็ไม่สามารถพกพาไปในที่สาธารณะได้เพราะผิดกฎหมาย มีโทษปรับ และถือว่าเป็นคดีอาญา

อุปกรณ์ป้องกันตัวแบบพกพาที่ไม่ผิดกฎหมาย

1.นกหวีด หรือ เครื่องส่งเสียง ใช้เมื่อตกอยู่ในอันตราย ส่งเสียงให้คนบริเวณใกล้เคียงได้ยิน และอาจทำให้คนร้ายเกิดความตกใจกลัวจนล่าถอยไป
2.สเปรย์ที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ เช่น น้ำหอม เมื่อถูกคนร้ายเข้าประชิดตัว ให้ฉีดพ่นใส่บริเวณใบหน้า ทำให้คนร้ายมีอาการแสบเคือง จนเรามีเวลาที่จะหลบหนีได้
3.กรรไกร ใช้ป้องกันตัวเบื้องต้นเมื่อถูกทำร้ายแบบประชิดตัว แต่มีบางสถานที่ห้ามพก เช่น สนามบิน เป็นต้น
4.ปากกา ใช้เพื่อป้องกันตัวเบื้องต้นเมื่อถูกทำร้ายแบบประชิดตัว
5.คัตเตอร์ มีบางสถานที่ห้ามพก เช่น สนามบิน ใช้ป้องกันตัวเบื้องต้น เมื่อถูกทำร้ายในระยะประชิด
6.ไฟฉายพกพา เปิดเพื่อส่งสัญญาณให้คนรอบข้างสังเกตเห็นเหตุการณ์ หรือใช้ส่องเข้าไปที่บริเวณใบหน้าของคนร้ายเมื่อถูกประชิดตัว ทำให้คนร้ายเกิดอาการตาพร่ามัว
7.พริกป่น ใช้ขว้างใส่บริเวณดวงตาของคนร้าย ทำให้เกิดอาการแสบร้อน แต่ต้องเก็บในอุปกรณ์ที่ปลอดภัย

อุปกรณ์ป้องกันตัวแบบพกพาที่ถือว่าผิดกฎหมาย

1.มีด ปืน ดาบ เพราะถือว่าเป็นอาวุธ ไม่สามารถพกพาได้ไม่ว่าในกรณีใดก็ตาม
2.เครื่องช็อตไฟฟ้า ถือว่าเป็นอาวุธโดยสภาพตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 1 (5) การครอบครอง(ที่บ้าน)ไม่มีความผิด แต่ถ้าพกพาไปตามทางสาธารณะจะมีความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 371 ห้ามผู้ใดพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้านหรือที่สาธารณะ
3.สเปรย์พริกไทย ในประเทศไทย ถือว่าเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง รายชื่อวัตถุอันตรายในความรับผิดชอบของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา โดย ระบุไว้ว่า “ผลิตภัณฑ์ที่มีสารสำคัญที่ใช้เพื่อขัดขวางระบบการ ทำงานของร่างกายเป็นการชั่วคราวเพื่อการป้องกันตัวหรือทำร้ายผู้อื่น” เป็นวัตถุอันตรายประเภทที่ 4 โดยห้ามมิให้ นำเข้า จำหน่าย พกพา สำหรับผู้ที่ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับ 1,000,000 บาท

223893